ปลูกบ้าน: ดอกไม้ประตูแจกัน

คราวนี้จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างของตัวบ้านนะครับ
ขู่ไว้แล้วว่าจะเขียนยาว แกล้งคนที่ชอบอ่านอะไรสั้นๆ ในเน็ตซะเลย
(แล้วจะมีใครอ่านไหมเนี่ย)

โครงการอารียาที่ถนนเกษตร-นวมินทร์เนี่ย มีอยู่สองแหล่ง
แหล่งที่อยู่ติดถนนเลยไม่รู้เขาเรียกอะไร แต่เป็นบ้านเดี่ยวราคาหลักสิบล้าน
ส่วนแหล่งที่เรามาจุ้มปุ๊กกันเนี่ย คือวิทยาเขตลาดปลาเค้าครับ (ชื่อไม่เท่เลยว่ะ)

ลักษณะบ้านในโครงการนี้เขามี ๓ แบบ ๓ ราคา ตามแต่กำลังทรัพย์
คือแบบบ้านเดี่ยว (เมโทร) แบบตึกแถว* สามชั้น (โมวา) และสองชั้น (คัลเลอร์)
*ขอเรียกว่าตึกแถวไปเลยละกันนะครับ จะบุ้ยว่าเป็นทาวน์เฮาส์หรือทาวน์โฮม มันก็ครือๆ กัน

คือความต้องการของผมและแฟนก็คือต้องการหาบ้านใกล้ๆ ในย่านนี้แหละ
ที่เอามาทำออฟฟิศได้ด้วย ทำร้านเสื้อของโบว์ได้ด้วย และอยู่อาศัยได้ด้วย
โดยมองเผื่ออนาคตไว้ทั้งเรื่องการอยู่อาศัย สาธารณูปโภค การศึกษาของลูกเต้าก็ว่าไป
โดยชูประเด็นหลักก็คือเวลามีลูกมีเต้า ก็อยากให้สังคมแถวบ้านเป็นสังคมที่น่าคบหาหน่อย
เผื่อโตมาจะได้คุยภาษาเดียวกันกับเพื่อนบ้านได้ (นี่เริ่มมีโหมดบังคับลูกแล้วเห็นไหม)
ที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย ซึ่งโครงการนี้ทำได้ดีกว่าที่อื่นๆ ที่ไปดูมา
(บางโครงการมีประวัติถึงขนาดที่มีป้อมยามก็แล้ว แต่ก็ยังมีโดนยกเค้าทั้งหลังเลยนะ!)
ส่วนการเดินทางนี่ไม่ได้ซีเรียสเท่าไหร่ เพราะทำงานอยู่กับบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แต่พอความต้องการที่จะเปิดเป็นร้านด้วย และสำนักงานด้วย ก็เลยต้องเดินทางง่ายหน่อย
เป็นงั้นไป..

ระดับราคาที่เล็งเอาไว้ช่วงๆ ๓ ล้านบาทกว่าๆ แถวๆ เกษตร-นวมินทร์ก็มีอยู่หลายเจ้า
แต่ก่อนหน้านี้เราไปชมโครงการอื่นๆ มาแล้วเหมือนกันแต่ไม่โดนเท่าไหร่
ดูไปดูมาก็มาเจอเอาโครงการอารียาที่จำได้ว่าเคยเห็นผ่านตามาตั้งนมนาาน
ไม่คิดว่าวันนึงจะได้มาพิจารณาเข้าสู่ตัวเลือก และได้เป็นเจ้าของเข้าจริงๆ จนได้

ตอนที่เราไปชมโครงการกันนั้น เป็นวันสุดท้ายที่เขากำหนดเรตราคาเดิมครับ
เพราะพอวันต่อมา (รู้สึกจะขึ้นเดือนใหม่) เขาก็ปรับราคาขึ้นอีกแสนนึง!!!
ด้วยความโหดร้ายของวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ดีๆ อยากถีบราคา มันก็ถีบจนหงายหลัง
ดังนั้นการตัดสินใจซื้อบ้านก็เลยปิดเกมได้เร็วกว่าที่คิดไว้

ทีนี้ก็ได้มารู้ว่าการเปิดขายเฟสที่เราจะซื้อนั้น ตัวบ้านโครงสร้างเดิมเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน
แต่โครงสร้างใหม่มันคือ Pre-Cast (คือก่อผนังเป็นชิ้นอยู่แล้ว มาประกอบกันแบบบ้านจาจา)

01
(๒๒ ธ.ค.๕๑)

ซึ่งข้อดีของมันก็คือตัวบ้านจะได้มาตรฐาน ปัญหาที่เห็นบ่อยๆ เกี่ยวกับเสาคานจะไม่ค่อยมี
และหน้างาน(สถานที่ก่อสร้าง)สะอาด เสร็จเร็ว เรียบร้อยแข็งแรงดีั (ถ้าผู้รับเหมาไม่โกงน่ะนะ)
แต่ข้อเสียของมันที่เห็นเด่นชัดเลยก็คือ เจ้าของบ้านจะเจาะผนังพังกำแพงแบบบ้านผนังอิฐไม่ได้!
(จริงๆ ก็ได้แหละครับ แต่ต้องปรึกษาวิศวกรที่เชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างอาคารเป็นพิเศษ)
ดังนั้นการต่อเติมจึงทำได้ยากกว่าแบบเก่า แล้วบ้านเฟสเก่าที่เหลืออยู่หลังสุดท้ายก็โดนซิวไปแล้ว
เราเลยโอเค เอาก็เอาเฟสนี้แหละ .. แล้วก็กะไว้ว่าพอสร้างเสร็จปั๊บจะต่อเติมตุนไว้ก่อนเลย!

โดยไม่ได้คิดว่าหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน พอเอามากดเครื่องคิดเลขแล้วจะปวดใจขนาดนี้ :30:

เข้าใจว่าระเบียบของโครงการบ้านจัดสรรอันนึงที่ผู้ซื้อคงจะได้เห็นกันบ่อยๆ
ก็คือ ตราบใดที่โครงการยังไม่โอนบ้านให้คุณ ก็ห้ามทำการต่อเติมก่อนเด็ดขาด
เพราะถ้าเราไปต่อเติมระหว่างที่บ้านยังไม่เสร็จแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะเกิดความซวยขึ้น
(เพราะสมบัติก็ยังเป็นของโครงการ ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นเราจงชิ่งอย่างสบายใจกันเถิด)
ส่วนบ้านของพี่ชายผมที่ซื้อที่เพชรบุรีนั้น เจ๋งขนาดที่ว่าตอนบ้านยังเทพื้นอยู่้เนี่ยนะ
ลูกค้าก็สามารถวิ่งไปเลือกซื้อกระเบื้อง หรือต่อเติมครัวได้ตามใจชอบเลยครับ

แต่บ้านตัวอย่างของอารียานี่ขี้โม้ชะมัดครับ เพราะสร้างไปต่อเติมไป
ก็เลยเสร็จออกมาโคตรสวยเลยพี่น้อง :07: (เซลล์บอกว่าเฉพาะค่าต่อเติมก็สองล้าน :07: )
เห็นแล้วก็อยากได้นั่นได้นี่ เหมือนเด็กอยากได้ของเล่นก็ไปยืนน้ำลายยืดเกาะกระจกดู
เลยได้แต่หาข้อจับผิดว่าไอ้นั่นเดี๋ยวพออยู่ก็รก ไอ้นี่พอฝนตกก็เละ ฯลฯ ด้วยความริษยา

02
(บ้านตัวอย่าง: ๒๑ ม.ค.๕๒)

และแล้ว พอบ้านสร้างเสร็จปั๊บ
หน้าที่ของเรานอกจากผ่อนดาวน์และรอธนาคารบอกโอเค ก็คือไปตรวจบ้านครับ
ผมไปหาคู่มือการตรวจบ้านก่อนโอน ของคุณวิญญู วานิชศิริโรจน์มาอ่าน
แล้วก็พรินต์มาอ่านออกเสียงอีกทีให้โบว์กะปิงรำคาญเล่น ก่อนจะไปตรวจที่หน้างานจริงๆ
ซึ่งพอเอาเข้าจริงๆ เนี่ย พอไปยืนดูรายละเอียดแต่ละจุดของตัวบ้านก็เซ็งเหมือนกัน
เพราะดูจากภายนอกแล้วมันน่าจะสวยงามทรามวัยใจสะออนใช่มะ
แต่พอมาเก็บรายละเอียดภายใน พวกรายละเอียดยิบๆ ย่อยๆ โอ๊ย มันมีตำหนิเต็มไปหมด
ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็วัสดุไม่ได้เรื่อง ไอ้นั่นก็มีรอย ไอ้นู่นก็เป็นรู ระดับก็ไม่สวย ฯลฯลฯลฯ
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติที่เราจะเจอครับ (ใครซื้อบ้านแล้วไม่เจออะไรตำหนิ ให้เตะเลยอ้ะ)

03
(๑๐ มี.ค.๕๒)

เพราะในการตรวจบ้านก่อนโอนเนี่ย เราต้องหาทางจับผิดให้ได้มากที่สุด
โดยมีกฎอยู่ข้อนึงที่คู่มือฉบับนั้นย้ำนักย้ำหนาว่า “อย่าเชื่อลมปากผู้รับเหมา”
เช่น “พี่เซ็นผ่านไปก่อนเหอะ เดี๋ยวผมมาแก้ให้ทีหลัง สบายอยู่ล้าววว” อะไรแบบนี้
เพราะพอถึงเวลาก็จะเกิดการหักหลังจากผู้รับเหมาได้ทุกเมื่อ นี่พี่เขาเตือนมา
แต่พอเอาเข้าจริงๆ เราก็มีหยวนๆ ไปหลายรายการเหมือนกันครับ
บางรายการก็เพิ่งมาเจอเอาทีหลัง ซึ่งก็จริงตามที่เขาแนะนำ คือมันเสียเวลาซ่อมว่ะ
แล้วช่างที่มาบริการหลังการขาย (เขาเรียกแผนก After Sale) ก็บริการได้ไม่ดีนัก
แน่ล่ะ ก็ได้ตังค์ไปแล้วนี่ :41:

ดังนั้นถ้าคุณอยากจะซื้อบ้านสักหลัง ก็อยู่ที่ความพอดีแล้วล่ะครับว่าควรจะหยวนที่ระดับไหน
เพราะบางคนนี่เล่นตรวจบ้านละเอียดยิบ ไม่ยอมปล่อยผ่านซะที อันนี้ก็เกินไป

04
(หลังที่หันหลังชนกะบ้านเรา: ๒๓-๒๕ มี.ค.๕๒)

พอตรวจบ้านและสั่งแก้ปัญหาจุกจิกสารพัดได้สามสี่ครั้ง
ก็ตกลงโอนบ้านเป็นกรรมสิทธิ์เรา เพื่อเตรียมพร้อมสู่การต่อเติมในขั้นถัดไปครับ
อย่างที่บอกว่าจะจ่ายให้หมดๆ ไปซะตราบที่ยังมีแรงหาเงินอยู่

05
(๒๕ เม.ย.๕๒)

สังเกตว่าในภาพล่างขวามีตู้เย็นอยู่ อันนั้นคือซื้อมาจากงานเฟอร์นิเจอร์ที่อิมแพคครับ
พอดีสีมันแดงสะใจดี แถมลดราคาอีก ก็เลยอยากได้ แล้วภรรยาก็ดันอนุมัติอีกแน่ะ
เลยถือว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ฮาๆ ที่เอามาตั้งไว้ในบ้านก่อนบ้านจะโอนเสียอีก :30:

เดี๋ยวพรุ่งนี้มาเล่าต่อ จะยาวแบบนี้เปล่าไม่รู้ :00: